วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

ผู้บริหารการศึกษามืออาชีพ

                                                        ผู้บริหารการศึกษามืออาชีพ

              คำว่า “ผู้บริหาร” ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ1
 มี 2 ความหมาย คือ
ผู้บริหารการศึกษา หมายถึง บุคลากรวิชาชีพที่รับผิดชอบการบริหารการศึกษานอกสถานศึกษาตั้งแต่ระดับเขตพื้นที่การศึกษาขึ้นไป
ผู้บริหารการศึกษา หมายถึง บุคลากรวิชาชีพที่รับผิดชอบการบริหารสถานศึกษาแต่ละแห่งทั้งของรัฐและเอกชน
2“ผู้บริหารมืออาชีพ” ยังเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่สำหรับวงการศึกษาเพิ่มจะเริ่มเป็นที่กล่าวถึงมากขึ้นก็เมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งในหมวด 7 ได้กำหนดไว้ว่า ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมายกำหนดแม้จะยังไม่มีใครให้คำจำกัดความไว้ที่ชัดเจน
ว่าผู้บริหารมืออาชีพทางการศึกษามีลักษณะอย่างไร แต่ในที่นี้หมายถึงผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและจัดการศึกษาทั้งในระดับสถานศึกษาและในระดับเขตพื้นที่การศึกษาโดยภาพรวม คำว่า “มืออาชีพ” หรือ “Professional” มีคุณลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
1. ต้องเป็นคนที่ยังชีพด้วยงานนั้น คือ ต้องมีรายได้หลักจากการงานในวิชาชีพที่ทำ และทุ่มเทเวลาให้กับงานในอาชีพนั้นจริง ๆ
2. ต้องมีการศึกษาและอบรม เพื่อให้มีความรู้ มีศาสตร์ มีหลักการ มีทฤษฎี มีการวิจัยค้น จนรู้ชัดและรู้จริง และมีการพัฒนาทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง
3. ต้องนำศาสตร์ไปใช้ในการบริหาร มีการฝึกฝนอย่างจริงจังในอาชีพนั้น ๆ จริง ๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ที่มากพอ
4. ต้องมีการรับรองมาตรฐานแห่งวิชาชีพ โดยมีการออกใบรับรองหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล ทนายความ นักบัญชี สถาปนิก วิศวกร เป็นต้น ซึ่งในการตัดสินใจ การวิเคราะห์ และการดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพดังกล่าว จะต้องใช้ผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเท่านั้น
5. ต้องมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ สำหรับยึดถือและปฏิบัติโดยเคร่งครัด
6. มีองค์กรหรือสมาคมวิชาชีพให้การรับรอง โดยการออกใบประกอบวิชาชีพ เพื่อควบคุมกำกับดูแลคุณภาพ มาตรฐาน และจรรยาบรรณ รวมทั้งมีมาตรการลงโทษเมื่อมีการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
จะเห็นว่า วิชาชีพที่มีการรับรองทั้งหลายล้วนแล้วแต่ใช้ทฤษฎีหลักการ และองค์ความรู้ และองค์ความรู้ที่ร่ำเรียนมาทั้งสิ้น แต่นักบริหารการศึกษาของเราน้อยรายนักที่จะใช้ศาสตร์ในการบริหารงาน ส่วนมากมักบริหารโดยไม่ใช้ทฤษฎี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการศึกษาอบรมไม่เข้มข้น ไม่มีการเชื่อมโยงทฤษฎีกับชีวิตการทำงาน และขาดการฝึกฝนอย่างเพียงพอ ทำให้การบริหารกันแบบ “มั่ว แมเนจเมนท์” เป็นส่วนใหญ่ ทั้ง ๆ ที่การศึกษาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
สังคมไทยอยากเห็นผู้บริหารการศึกษาของเราเป็น “ผู้บริหารมืออาชีพ” มีความรู้และประสบการณ์สมกับเป็นผู้บริหารบุคลากรที่เป็นครูมืออาชีพแล้ว ผู้บริหารยุคใหม่ต้องเป็นผู้นำทางวิชาการ เป็นผู้นำการปฏิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติโดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความสามารถใน “การบริหารโดยการใช้โรงเรียนเป็นฐาน” (School-based Management) ซึ่งหมายถึง ความสามารถที่จะประสานการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา ชุมชนและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ความสามารถในการระดมและใช้ทรัพยากรเพื่อการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพ เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ ไม่บริหารแบบมั่ว ๆ โดยไม่ใช้ศาสตร์หรือความรู้ที่ร่ำเรียนมา
แม้ว่าการบริหารหน่วยงานทางการศึกษาจะไม่เห็นผลกำไรหรือขาดทุนอย่างชัดเจนอย่างภาคเอกชน แต่เราสามารถประเมินได้ว่า ผู้บริหารคนไหนเป็นผู้บริหารมืออาชีพ ก็คือ3
1. วัดจากความสำเร็จของการปฏิบัติงาน (Outputs) โดยวัดที่การบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร ซึ่งวัตถุประสงค์ของการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ คือ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และมีคุณลักษณะตามมาตรฐานการศึกษาชาติ ดังนั้น การพิจารณาว่าคนที่เข้ามาเรียนได้เกิดการเรียนรู้หรือไม่ ก็วัดได้โดยใช้มาตรฐานหรือตัวบ่งชี้ แต่ผู้บริหารมืออาชีพมิใช่เพียงทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์เท่านั้น แต่ต้องสามารถบริหารและจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย คือ ให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพสูงที่สุดโดยมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
2. วัดจากความสามารถในกระบวนการบริหาร (Process) ผู้บริหารมืออาชีพต้องใช้กระบวนการ P-D-C-A วางแผนเก่ง วางแผนเป็นนำแผนฯ ที่วางไว้ไปสู่การปฏิบัติจริง ไม่กลัวการประเมินเพื่อพัฒนา และปรับเป้าหมายเพื่อให้วงจรการทำงานในขั้นต่อไปดีขึ้นตลอดเวลา ฉะนั้น ผู้บริหารมืออาชีพต้องใช้วิจัยในกระบวนการบริหาร รวมทั้งต้องมีวิสัยทัศน์มีกลยุทธ์ที่สามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบการสรรหาและเตรียมความพร้อมทุกด้านให้กับผู้บริหารมืออาชีพก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง มีการพัฒนาระหว่างประจำการ และมีการประเมินผลงานเพื่อปรับปรุงตลอดเวลา
สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ถ้าอ่านพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติอย่างรอบคอบจะพบว่า ผู้บริหารมืออาชีพต้องสามารถปฏิบัติภารให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ ต้องส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ คำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ สามารถจัดการศึกษาได้ทั้ง 3 รูปแบบ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร จัดให้ระบบการประกันคุณภาพภายใน บริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร และการจัดการเรียนการสอน
ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความสามารถในการจัดการใช้ทรัพยากรให้ได้ประโยชน์สูงสุดโดยประหยัดสุด ผู้บริหารมืออาชีพจะไม่ท่องคาถาเชย ๆ ที่สะท้อนปัญหาซ้ำซากของการบริหารแบบโบราณที่ว่า “ขาดคน ขาดเงิน” อีกต่อไป ให้เกียรติและยกย่องครู ผู้ปกครอง และชุมชน ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) กับการบริหารและจัดการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ผู้บริหารมืออาชีพต้องมองเห็นความสำคัญและยกย่องให้เกียรติกรรมการสถานศึกษา ตลอดจนผู้ปกครองและชุมชน ในฐานะเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่า สามารถสนับสนุนสถานศึกษาได้ทั้งในเรื่องคำแนะนำ ความคิดเห็น ภูมิปัญญาความรู้ อาคารสถานที่ แหล่งเรียนรู้ ฯลฯ
ผู้บริหารมืออาชีพ คือ ความหวังของการศึกษาไทย เป็นความหวังสำหรับเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติและสังคมไทยโดยรวม แม้จะเริ่มต้นโดยความพยายามในการสร้างผู้บริหารสถานศึกษาต้นแบบจำนวนไม่มากนัก แต่การขยายผลอย่างมั่นคงและต่อเนื่องจะนำไปสู่การยกระดับผู้บริหารสถานศึกษาทั้งประเทศให้เป็นผู้บริหารมืออาชีพโดยทั่วหน้ากัน ประเทศไทยเราจะมีผู้บริหารสถานศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศใด ผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพเหล่านี้แหละที่จะเป็นผู้นำการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยอย่างแท้จริง
เนื่องจากความสลับซับซ้อนของภารกิจและการเปลี่ยนแนวทางการบริหารตามการปฏิรูปใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จำเป็นต้องมีผู้บริหารการศึกษาที่มีความรู้ ความสามารถหรือคุณลักษณะเฉพาะหลายประการ กล่าวคือ นอกจากต้องมีคุณสมบัติได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษาตามเกณฑ์ที่จะกำหนด (เช่น ตามข้อกำหนดของสำนักงานปฏิรูปการศึกษา) และตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านกระบวนการและด้านปัจจัย ของสำนักงานคณะการมการการศึกษาแห่งชาติแล้ว ผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้บริหารการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษาแล้วจำต้องมีลักษณะหรือคุณสมบัติ ดังนี้

4เกณฑ์มาตรฐานผู้บริหารการศึกษาของคุรุสภา
คุรุสภา (2540) ได้ออกประกาศเกณฑ์มาตรฐานการบริหารการศึกษาของคุรุสภา 12 เกณฑ์ ดังนี้
1. ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษา
2. ต้องตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับการพัฒนาของบุคลากร ผู้เรียน และชุมชน
3. มุ่งมั่นพัฒนาผู้ร่วมงานให้สามารถปฏิบัติตาม ได้เต็มศักยภาพ
4. พัฒนาแผนงานขององค์ กรให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง
5. พัฒนาและใช้นวัตกรรมการบริหารจนเกิดผลงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ
6. ปฏิบัติงานขององค์กรโดยเน้นผลถาวร
7. รายงานผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ
8. ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
9. ร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานอื่นอย่างสร้างสรรค์
10. แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา
11. เป็นผู้นำและสร้างผ้านำ
12. สร้างโอกาสในการพัฒนาได้ทุกสถานการณ์

บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้บริหารสถานศึกษาต้นแบบ หมายถึง ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีการบริหารและการจัดการตามแนวการบริหารที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School-based Management) คือ บริหารงานอย่างมีอิสระเพื่อให้เกิดความคล่องตัวต่อการบริหารวิชาการ การบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ และการบริหารงานทั่วไป โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมงานด้านวิชาการเป็นหลักสำคัญ อันจะก่อให้เกิดความสำเร็จในการปฏิรูปการเรียนรู้และการปฏิรูปการศึกษาโดยรวม
บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ประกอบด้วยเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. การเป็นผู้นำทางวิชาการ
2. การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม
3. การเป็นผู้อำนวยความสะดวก
4. การประสานความสัมพันธ์
5. การส่งเสริมการพัฒนาครูและบุคลากร
6. การสร้างแรงจูงใจ
7. การประเมินผล
8. การส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา
9. การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
10. การส่งเสริมเทคโนโลยี

คุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษา
การบริหารสถานศึกษาต้นแบบ หมายถึง ผู้บริหารที่มีลักษณะทางวิชาชีพและคุณลักษณะส่วนบุคคล ตามเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้
1. คุณลักษณะทางวิชาชีพ
มีความเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้นำการเปลี่ยนแปลง สามารถชักนำหรือสร้างแรงจูงใจให้ผู้ร่วมงานเกิดการเปลี่ยนแปลงทางปฏิบัติงานทางการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมาย เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมายทางการศึกษา มีการวางแผนการทำงาน มีความริเริ่มสร้างสรรค์ บริหารงานโดยมุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน และรู้จักแสวงหาความรู้ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม
2. คุณลักษณะส่วนบุคคล
เป็นแบบอย่างที่ดีของบุคลากรในสถานศึกษา มีบุคลิกภาพที่ดี มีปฏิภาณไหวพริบดี มีการตัดสินใจและแก้ปัญหาได้ดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีความรับผิดชอบสูง มีใจเปิดกว้างพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม มีความสามารถในการสื่อสาร กล้าในการพูดและการปฏิบัติ มีความตื่นตัวอยู่เสมอ เป็นนักพัฒนาและนักบริการสังคม มีสุขภาพดี มีความรักในสถาบันของชาติ และอนุรักษ์ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
ลักษณะผู้บริหารการศึกษามืออาชีพ
นักบริหารการศึกษามืออาชีพที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการบริหารและการจัดการศึกษาตามแนวทางที่กำหนดไว้ใน 5 พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ลักษณะดังกล่าวประกอบด้วย
1. ลักษณะพื้นฐานทางธรรมชาติเป็นเดิมทุน
2. การศึกษา
3. บุคลิกภาพ
4. คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ
5. ความสามารถ/ทักษะ
6. ความรู้ลึกและรู้รอบ
7. การมีอนุญาตประกอบวิชาชีพการบริหาร
6ลักษณะผู้บริหารแบบซีอีโอ (CEO)
แนวคิดการบริหารแบบซีอีโอ (CEO) ที่ท่านนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร นำมาปรับใช้ในการบริหารประเทศในเวลานี้ มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงนำหน้า โดยมี ซีอีโอ ซึ่งเป็นผู้อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กรนั้น เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยปกติ ซีอีโอจะมีวาระดำรงตำแหน่งที่ชัดเจน และมีอำนาจตัดสินใจเบ็ดเสร็จภายในองค์กรได้ โดยนำเสนอรายงานต่อเจ้าของ หรือ กรรมการ (Board) ขององค์กรนั้น ดังนั้นเมื่อมีการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้กับการปฏิรูปการศึกษาของไทย ซีอีโอในที่นี้จึงเปรียบได้กับผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งมีอำนาจตัดสินใจและนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สถานศึกษาของตน โดยจะต้องรายงานผลต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของการศึกษาของประเทศ โดยยึดหลักปฏิรูปตามแนวเจตจำนงของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จนั้นผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงควรมีลักษณะบางประการที่แตกต่างไปจากอดีต และต่างจากผู้บริหารทั่วไปดังนี้
1. เป็นผู้มีวิสัยทัศน์เชิงกุลยุทธ์
2. เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ
3. เป็นนักเรียนรู้
4. เป็นนักประสานงาน
5. เป็นนักพัฒนา

          แนวทางการประเมินผู้บริหารเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2544) ได้กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษาต้นแบบ เพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้ไว้ 3 เกณฑ์7 ดังนี้คือ
เกณฑ์ที่ 1 ผู้บริหารสถานศึกษามีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้ตามแนว พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 ดังนี้
1. ผู้บริหารสถานศึกษามีการจัดองค์กร โดรงสร้างและการบริหารอย่างเป็นระบบ ครบวงจร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการศึกษา
2. ผู้บริหารสถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
3. ผู้บริหารสถานศึกษาส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาการศึกษา และมีบทบาทในการส่งเสริมชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Learning Community)
4. ผู้บริหารสถานศึกษาส่งเสริมให้มีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ส่งเสริมสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยของผู้เรียน
5. ผู้บริหารสถานศึกษาส่งเสริมและพัฒนาครูอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีครูมีประสิทธิภาพในการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีความสามารถในการแสวงหาความรู้ คิดวิเคราะห์ และสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน
6. ผู้บริหารสถานศึกษาจัดให้มีหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่นมีสื่อการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้
7. ผู้บริหารสถานศึกษาส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับหลักสูตร ความต้องการของผู้เรียนและท้องถิ่น
8. ผู้บริหารสถานศึกษาส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมและการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
9. ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) แก่บุคลากรในโรงเรียนและผู้เรียน
10. ผู้บริหารสถานศึกษาส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการนำสื่อสารมาใช้ในการปฏิรูปการเรียนรู้
11. ผู้บริหารสถานศึกษามีศักยภาพในการพึ่งตนเองสามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
12. ผู้บริหารสถานศึกษามีผลการปฏิบัติงานดีเด่นด้านส่งเสริมผู้เรียนให้มีคุณลักษณะตามมาตรฐาน ดังนี้
12.1.ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์
12.2.ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรอง และมีวิสัยทัศน์
12.3.ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร
12.4.ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
12.5.ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน รักการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต
12.6.ผู้เรียนมีสุนทรียภาพ และลักษณะนิสัยด้านศิลปะ ดนตรี และกีฬา

เกณฑ์ที่ 2 ผู้บริหารสถานศึกษามีความเป็นผู้นำทางวิชาการ (Instructional Leadership)
เกณฑ์ที่ 3 ผู้บริหารสถานศึกษามีคุณธรรม จริยธรรมเป็นที่ยอมรับของสังคม และใช้ระบบคุณธรรมในการบริหารจัดการดังนี้
1. ผู้บริหารศึกษาอุทิศตนให้กับการปฏิบัติงานในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง
2. ผู้บริหารสถานศึกษามีความเมตตา กรุณา มีความรับผิดชอบ ยุติธรรม และซื่อสัตย์
3. ผู้บริหารสถานศึกษามีการปกครองที่ดี ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข สิ่งเสพย์ติด
4. ผู้บริหารสถานศึกษาได้รับความศรัทธาและยอมรับด้วยคุณธรรม จริยธรรมจากนักเรียน ครู เพื่อนผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บังคับบัญชา กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน และชุมชน
5. ผู้บริหารสถานศึกษาใช้ระบบคุณธรรมในการบริหารจัดการ

แหล่งที่อ้างอิง

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545, สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
รุ่ง แก้วแดง,ดร.,การบริหารเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้, เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง, สิงหาคม 2545
ธีระ รุญเจริญ,ศ.ดร.,ผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพ : ศักยภาพเพื่อการเรียนรู้, ม.วงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา, สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง, 2545
คุรุสภา, เกณฑ์มาตรฐานผู้บริหารการศึกษา, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2540.
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์,ศ.ดร., บทความจากนิตยสาร งานวันนี้ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 22-29 กุมภาพันธ์ 2547 “ยุทธศาสตร์สร้างงานบริหารคน”, ผู้อำนวยการสถานบันอนาคตเพื่อการพัฒนา
                                   สุภัทรชัย บุญมี  นำเสนอบทความ

1 ความคิดเห็น: